วันนี้ (1 พฤศจิกายน 2567) นายเอกนัฏ พร้อมพันธุ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม มอบหมายนางสาวฐิติภัสร์ โชติเดชาชัยนันต์ หัวหน้าคณะทำงานรัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม ร่วมกับ เจ้าหน้าที่ตำรวจกองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกัทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (บก.ปทส.) นายเอกนิติ รมยานนท์ ผู้ตรวจราชการกระทรวงอุตสาหกรรม นายปณตสรรค์ สูจยานนท์ ผู้อำนวยการกองบริการงานอนุญาตโรงงาน 1 นางสาวศิรกาญจน์ เหลืองสกุล ผู้อำนวยการกองบริหารจัดการกากอุตสาหกรรม และเจ้าหน้าที่กรมโรงงานอุตสาหกรรม พร้อมด้วยเจ้าหน้าที่สำนักงานอุตสาหกรรมจังหวัดปราจีนบุรี (สอจ.ปจ.) เจ้าหน้าที่ศูนย์วิจัยและเตือนภัยมลพิษภาคตะวันออก (ศวภ.ตอ.) นายอำเภอศรีมหาโพธิ์ และเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้อง เข้าตรวจสอบบริษัท ที แอนด์ ที เวสท์ แมเนจเม้นท์ 2017 จำกัด จังหวัดปราจีนบุรี อีกครั้ง หลังจากที่กรมโรงงานอุตสาหกรรมได้มีคำสั่งปิดโรงงานอันมีผลเป็นการเพิกถอนใบอนุญาตประกอบกิจการโรงงาน พบว่าโรงงานเพิกเฉยต่อคำสั่งและฝ่าฝืนประกอบกิจการโรงงานอยู่
จึงได้ขอหมายค้นจากศาลจังหวัดปราจีนบุรีเข้าตรวจสอบภายในโรงงาน ผลการตรวจสอบเจ้าหน้าที่ตำรวจได้จับกุมวิศวกรชาวจีน ผู้ดูแลโรงงานดำเนินคดี 1 ราย ข้อหาครอบครองวัตถุอันตรายโดยไม่ได้รับอนุญาต และคนงานต่างด้าว 4 ราย ข้อหาใบอนุญาตผิดจังหวัด ผิดนายจ้าง รวมทั้งพบความผิดตามกฎหมายที่เกี่ยวข้องอีกหลายข้อหา
จากการตรวจสอบโดยละเอียด เจ้าหน้าที่ตรวจพบการกระทำผิดในข้อหาเพิ่มเติม จึงได้รวบรวมพยานหลักฐานและข้อมูลเพื่อส่งดำเนินคดี โดยมีรายละเอียด ดังนี้
- ข้อหาตั้งโรงงานโดยไม่มีใบอนุญาตตามมาตรา 12 วรรคสอง มีบทกำหนดโทษตามมาตรา 50 วรรคหนึ่ง จำคุกไม่เกิน 2 ปี หรือปรับไม่เกิน 200,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
- ข้อหาประกอบกิจการโรงงานโดยไม่มีใบอนุญาตตามมาตรา 12 วรรคหนึ่ง มีบทกำหนดโทษตามมาตรา 50 วรรคหนึ่ง จำคุกไม่เกิน 2 ปี หริอปรับไม่เกิน 200,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
- ข้อหาฝ่าฝืนคำสั่งปิดโรงงาน มีบทกำหนดโทษตามมาตรา 55 วรรคหนึ่ง จำคุกไม่เกิน 2 ปี หรือปรับไม่เกิน 200,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ และปรับวันละ 5,000 บาทจนกว่าจะหยุดประกอบการ
อีกทั้งเจ้าหน้าที่เข้าตรวจสอบสิ่งของที่เจ้าหน้าที่ได้ใช้อำนาจตามมาตรา 35(3) แห่ง พ.ร.บ. โรงงาน และมาตรา 54(3) แห่ง พ.ร.บ. วัตถุอันตราย ได้ยึดและอายัดไว้ในทุกอาคาร พบว่ามีการสูญหายหรือมีการเคลื่อนย้ายสิ่งของดังกล่าวออกไปนอกพื้นที่ จึงได้ดำเนินการเอาผิดเพิ่มเติม ดังนี้
- ความผิดข้อหาขัดขวางการปฏิบัติงานตามมาตรา 56 พ.ร.บ. โรงงาน จำคุกไม่เกิน 1 เดือน หรือปรับไม่เกิน 20,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
- ความผิดข้อหาทำลายหรือเคลื่อนย้ายของกลางที่ยึดอายัดตามมาตรา 141 และมาตรา 142 แห่งประมวลกฎหมายอาญา จำคุกไม่เกิน 3 ปี หรือปรับไม่เกิน 60,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
- เจ้าหน้าที่ดำเนินการนำตัวอย่างวัตถุดิบหรือสิ่งของต่างๆ ภายในโรงงานมาทดสอบหาส่วนประกอบ พบว่าเป็นวัตถุอันตราย และไม่มีใบอนุญาตครอบครองวัตถุอันตรายชนิดที่ 3 แต่อย่างใด กรณีดังกล่าวจึงเป็นความผิดตามมาตรา 23 วรรคหนึ่ง มีบทกำหนดโทษตามมาตรา 73 แห่ง พ.ร.บ. วัตถุอันตราย พ.ศ. 2535 จำคุกไม่เกิน 2 ปี หรือปรับไม่เกิน 200,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ และเป็นความผิดซึ่งหน้า เจ้าหน้าที่ตำรวจจึงใช้อำนาจจับกุมทันที ตามมาตรา 78(1) ประกอบมาตรา 80 แห่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา อันเป็นเหตุให้จับวิศวกรชาวจีน ผู้ดูแลรักษาสถานที่ ดำเนินคดี
นอกจากนั้น ฝ่ายปกครอง นำโดยนายอำเภอศรีมหาโพธิ ได้ตรวจสอบใบอนุญาตแรงงาน 150 คน พบแรงงานผิดจังหวัด ผิดนายจ้างจำนวน 4 คน
นางสาวฐิติภัสร์ ย้ำเป็นนโยบายของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรมให้กำกับดูแลโรงงานกากอุตสาหกรรมอย่างเข้มงวด และบูรณาการกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง นอกจากนี้กระทรวงอุตสาหกรรมอยู่ระหว่างดำเนินการร่างพระราชบัญญัติว่าด้วยการจัดการกากอุตสาหกรรมโดยเฉพาะ เพื่อยกระดับการจัดการกับผู้กระทำผิดต่อไป
#กรมโรงงานอุตสาหกรรม #กรมโรงงาน #กรอ #DIW #MIND #กระทรวงอุตสาหกรรม #สำนักงานอุตสาหกรรมจังหวัดปราจีนบุรี #ปราจีนบุรี #กากอุตสาหกรรม #saveอุตสาหกรรมไทย