You are currently viewing 2,177 โรงงานที่มีความเสี่ยงสูง เตรียมส่งรายงานการวิเคราะห์ความเสี่ยงผ่านระบบอิเล็กทรอนิกส์ มีผลบังคับใช้ 24 มีนาคม 2567 ดื้อไม่รายงานมีโทษปรับสูงสุด 200,000 บาท
2,177 โรงงานที่มีความเสี่ยงสูง เตรียมส่งรายงานการวิเคราะห์ความเสี่ยงผ่านระบบอิเล็กทรอนิกส์ มีผลบังคับใช้ 24 มีนาคม 2567 ดื้อไม่รายงานมีโทษปรับสูงสุด 200,000 บาท

กระทรวงอุตสาหกรรม ได้ออกประกาศกระทรวงอุตสาหกรรม (ฉบับที่ 5) พ.ศ. 2566 เรื่อง มาตรการคุ้มครองความปลอดภัยในการดำเนินงาน ประกาศในราชกิจจานุเบกษาเมื่อวันที่ 24 มีนาคม 2566 มีผลบังคับใช้ 1 ปี นับจากประกาศในราชกิจจานุเบกษา คือวันที่ 24 มีนาคม 2567 มีผลให้ผู้ประกอบกิจการโรงงานจำพวก 3 ที่การประกอบกิจการโรงงานอาจเกิดความเสี่ยงสูง 12 ประเภทโรงงาน ตามประกาศกระทรวงอุตสาหกรรม (ฉบับที่ 4) พ.ศ. 2552 เรื่อง มาตรการคุ้มครองความปลอดภัยในการดำเนินงาน จำนวน 2,177 โรงงานทั่วประเทศ ต้องยื่นรายงานการวิเคราะห์ความเสี่ยงจากอันตรายที่อาจเกิดจากการประกอบกิจการโรงงานผ่านระบบอิเล็กทรอนิกส์ โดยไม่ต้องมายื่นเอกสารที่กรมโรงงานฯ อีกต่อไป ทั้งนี้ โรงงานจำนวนดังกล่าวก่อนเริ่มประกอบกิจการต้องได้รับความเห็นชอบรายงานการวิเคราะห์ความเสี่ยงจากกรมโรงงานฯ และมีการทบทวนทุก 5 ปี เพื่อให้มั่นใจได้ว่าจะมีการทบทวนกระบวนงานควบคุมความเสี่ยงให้อยู่ในระดับที่ปลอดภัย หากไม่ส่งรายงานการวิเคราะห์ความเสี่ยงฯ จะมีความผิดตามมาตรา 45 แห่ง พ.ร.บ.โรงงาน พ.ศ. 2535 มีโทษปรับสูงสุด 200,000 บาท ขณะนี้กรมโรงงานฯ กำลังดำเนินการพัฒนาระบบอิเล็กทรอนิกส์เพื่อให้ผู้ประกอบการสามารถจัดส่งรายงานการวิเคราะห์ความเสี่ยง เมื่อแล้วเสร็จจะประกาศให้ผู้ประกอบการทราบผ่านทาง https://www.diw.go.th/webdiw/ และช่องทางสื่ออื่น ๆ ของกรมโรงงานฯ ต่อไป

12 ประเภทโรงงานที่มีความเสี่ยงสูงตามบัญชีท้ายประกาศกระทรวงอุตสาหกรรม เรื่อง มาตรการคุ้มครองความปลอดภัยในการดำเนินงาน (ฉบับที่ 4) พ.ศ. 2552
– โรงงานลำดับที่ 7 (1) (4) โรงงานสกัดน้ำมันจากพืช สัตว์ หรือไขมันสัตว์ เฉพาะที่ใช้สารตัวทำละลายในการสกัด
– โรงงานลำดับที่ 42 (1) (2) โรงงานประกอบกิจการเกี่ยวกับ เคมีภัณฑ์ สารเคมี หรือวัตถุอันตราย
– โรงงานลำดับที่ 43 (1) (2) โรงงานประกอบกิจการเกี่ยวกับปุ๋ย หรือสารป้องกันหรือกำจัดศัตรูพืชหรือสัตว์ ยกเว้นการผลิตปุ๋ยอินทรีย์ และการผลิตปุ๋ยเคมีที่ไม่มีการใช้แอมโมเนียมไนเตรต (Ammonium Nitrate) หรือโปแตสเซียมคลอเรต (Potassium Chlorate)
– โรงงานลำดับที่ 44 โรงงานประกอบกิจการเกี่ยวกับการผลิตยางเรซินสังเคราะห์ ยางอีลาสโตเมอร์
พลาสติก หรือเส้นใยสังเคราะห์ซึ่งมิใช่ใยแก้ว
– โรงงานลำดับที่ 45 (1) (2) (3) โรงงานประกอบกิจการเกี่ยวกับสี น้ำมันชักเงา เชลแล็ก แล็กเกอร์ หรือผลิตภัณฑ์ สำหรับใช้ยาหรืออุด ยกเว้นการผลิตสีน้ำ
– โรงงานลำดับที่ 48 (4) (6) โรงงานประกอบกิจการเกี่ยวกับการทำไม้ขีดไฟ วัตถุระเบิด หรือดอกไม้ไฟ หรือ การทำคาร์บอนดำ
– โรงงานลำดับที่ 49 โรงงานกลั่นน้ำมันปิโตรเลียม
– โรงงานลำดับที่ 50 (4) โรงงานประกอบกิจการเกี่ยวกับผลิตภัณฑ์จากปิโตรเลียม ถ่านหิน หรือลิกไนต์ ยกเว้นแอสฟัลท์ติกคอนกรีต
– โรงงานลำดับที่ 89 โรงงานผลิตก๊าซ ซึ่งมิใช่ก๊าซธรรมชาติ ส่ง หรือจำหน่ายก๊าซ
– โรงงานลำดับที่ 91 (2) โรงงานบรรจุก๊าซ
– โรงงานลำดับที่ 92 โรงงานห้องเย็น เฉพาะที่ใช้แอมโมเนียเป็นสารทำความเย็น
โรงงานลำดับที่ 99 โรงงานผลิต ซ่อมแซม ดัดแปลงเครื่องกระสุนปืน วัตถุระเบิด หรือสิ่งอื่นใดที่มีอำนาจในการประหาร ทำลาย หรือทำให้หมดสมรรถภาพในทำนองเดียวกับอาวุธปืน เครื่องกระสุนปืน หรือวัตถุระเบิด และรวมถึงสิ่งประกอบของสิ่งดังกล่าว

#กรมโรงงานอุตสาหกรรม #กรมโรงงาน #กรอ #กระทรวงอุตสาหกรรม #DIW #MIND #ความปลอดภัย #รายงานความเสี่ยง