You are currently viewing อธิบดีกรมโรงงานฯ สืบเบาะแส สั่งตรวจ ‘ซีเซียม-137’ ในโรงงานรีไซเคิล จ.ระยอง โล่งใจ รังสีอยู่ในระดับปกติตามธรรมชาติ

วันที่ 20 มีนาคม 2566 นายจุลพงษ์ ทวีศรี อธิบดีกรมโรงงานอุตสาหกรรม เผยว่า จากกรณีวัสดุกัมมันตรังสีซีเซียม-137 (Cesium-137, Cs-137) ลักษณะเป็นแท่งทรงกระบอก ขนาดเส้นผ่านศูนย์กลาง 5 นิ้ว ยาว 8 นิ้ว น้ำหนัก 25 กิโลกรัม ได้สูญหายไปจาก บริษัท เนชั่นแนล เพาเวอร์ แพลนท์ 5 เอ จำกัด ตั้งอยู่ที่ตำบลท่าตูม อำเภอศรีมหาโพธิ จังหวัดปราจีนบุรี โดยไม่ทราบวันสูญหายที่แน่ชัด ทำให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องหลายภาคส่วนประสานความร่วมมือระดมการค้นหา ทั้งนี้ เมื่อวันที่ 19 มีนาคม 2566 มีข้อมูลการตรวจสอบพบว่าโรงงาน บริษัท เค พี พี สตีล จำกัด ซึ่งประกอบกิจการรีดเหล็กเส้นกลมและข้ออ้อยและผลิตภัณฑ์เหล็กทุกประเภท ตั้งอยู่ที่ตำบลหาดนางแก้ว อำเภอกบินทร์บุรี จังหวัดปราจีนบุรี มีการปนเปื้อนของสารกัมมันตรังสีซีเซียม-137 ในฝุ่นโลหะที่ได้จากผลิตโลหะ หรือที่เรียกว่า ฝุ่นแดง

กรมโรงงานอุตสาหกรรม (กรอ.) ตระหนักถึงปัญหาและผลกระทบที่เกิดขึ้น เร่งตรวจสอบข้อมูลจากระบบอนุญาตอิเล็กทรอนิกส์ หรือ สก.2 พบว่า บริษัท เค พี พี สตีล จำกัด ได้ส่งกากอุตสาหกรรมฝุ่นจากระบบบำบัดมลพิษอากาศจากเตาหลอมเหล็ก จำนวน 12.4 ตัน ไปยังโรงงานรีไซเคิลแห่งหนึ่งในจังหวัดระยอง เพื่อนำฝุ่นจากระบบบำบัดอากาศในโรงงานผลิตโลหะมาคืนสภาพนำกลับมาใช้ประโยชน์ใหม่ (Recycle) ในกระบวนการผลิตโลหะ โดยมีการขออนุญาตนำกากอุตสาหกรรมออกนอกโรงงานอย่างถูกต้อง

นายจุลพงษ์ กล่าวเพิ่มเติมว่า จึงมอบหมายให้เจ้าหน้าที่กองบริหารจัดการกากอุตสาหกรรม เจ้าหน้าที่ศูนย์วิจัยและเตือนภัยมลพิษโรงงานภาคตะวันออก เจ้าหน้าที่สำนักงานอุตสาหกรรมจังหวัดระยอง ร่วมด้วย เจ้าหน้าที่สำนักงานปรมาณูเพื่อสันติ และเจ้าหน้าที่สาธารณสุขจังหวัดระยอง ลงพื้นที่โรงงานรีไซเคิลในจังหวัดระยอง เพื่อตรวจวัดปริมาณรังสีภายในโรงงาน จำนวน 7 จุด ได้แก่ ถุงเก็บฝุ่นและบริเวณรอบเตาหลอม จากการตรวจสอบพบว่ามีค่าอยู่ระหว่าง 0.075 – 0.134 ไมโครซีเวิร์ตต่อชั่วโมง (µSv/hr) ซึ่งเป็นปริมาณรังสีในระดับปกติตามปริมาณรังสีพื้นหลังหรือรังสีในธรรมชาติ (Background Radiation) ซึ่งมั่นใจได้ว่า ไม่มีการรับฝุ่นล็อตที่ปนเปื้อนเข้ามาในโรงงานรีไซเคิลแห่งนี้ หากมีเบาะแสเพิ่มเติม กรอ. ก็จะลงพื้นที่ตรวจสอบเพื่อให้ประชาชนได้ทราบข้อเท็จจริง

“กรอ. มีมาตรการป้องกันการปนเปื้อนของสารกัมมันตรังสี โดยได้ส่งหนังสือขอความร่วมมือไปยังกรมศุลกากรและโรงงานลำดับที่ 59 ประกอบกิจการเกี่ยวกับการถลุง หลอม หล่อ รีด ดึง หรือผลิตเหล็ก จำนวนกว่า 400 โรงงานทั่วประเทศ ให้ตรวจสอบการนำเข้าที่อาจปนเปื้อนสารกัมมันตรังสี ตลอดจนกำชับให้อุตสาหกรรมจังหวัดในฐานะเจ้าหน้าที่ผู้อนุญาต ต้องขอข้อมูลการตรวจวัดสารกัมมันตรังสีจากผู้ก่อกำเนิดของเสียเพื่อประกอบการอนุญาต เพื่อเฝ้าระวังปัญหาและสร้างความมั่นใจให้ผู้ประกอบการและประชาชน” อธิบดีกรมโรงงานฯ กล่าวปิดท้าย

#กรมโรงงานอุตสาหกรรม #กรมโรงงาน #กรอ #DIW #MIND #กระทรวงอุตสาหกรรม #ซีเซียม137 #กัมมันตรังสี#Cesium137 #Cs137 #BackgroundRadiation #โรงงานหลอมเหล็ก #โรงงานรีไซเคิล