You are currently viewing กรมโรงงานฯ ส่งทีมเจ้าหน้าที่ไปญี่ปุ่นศึกษาข้อบังคับด้านความปลอดภัยระบบทำความเย็น โดยใช้สารทำความเย็นธรรมชาติ (NH3/CO2) นำมาปรับใช้ในไทย

กรมโรงงานฯ ส่งทีมเจ้าหน้าที่เข้าศึกษาการนำข้อบังคับด้านความปลอดภัย ที่รัฐบาลประเทศญี่ปุ่นส่งเสริมให้ผู้ประกอบการเร่งการใช้อุปกรณ์ที่ใช้สารทำความเย็นธรรมชาติ (NH3/CO2) แบบประหยัดพลังงานเพื่อสร้างสังคมคาร์บอนต่ำและไร้สารฟลูออโรคาร์บอน พร้อมศึกษาดูงานในโรงงานทำความเย็นและทำน้ำแข็งในประเทศญี่ปุ่น เพื่อนำมาปรับใช้ในระบบทำความเย็นของประเทศไทย
เมื่อวันที่ 27 พฤศจิกายน ถึง วันที่ 3 ธันวาคม 2565 ดร.จุลพงษ์ ทวีศรี อธิบดีกรมโรงงานอุตสาหกรรม ได้มอบหมายให้เจ้าหน้าที่ของกรมโรงงานอุตสาหกรรมเข้าฝึกอบรมหลักสูตรส่งเสริมการนำข้อบังคับด้านความปลอดภัยเข้ามาใช้ในระบบทำความเย็นในประเทศไทย (Training Program on Support for the Introduction of Safety Related to Refrigeration Equipment in Thailand : 4ENTK) โดยมีนายธนบูรณ์ เซ่งง่าย ผู้อำนวยการกองยุทธศาสตร์และแผนงาน และเจ้าหน้าที่กรมโรงงานอุตสาหกรรม จำนวน 8 ท่าน พร้อมด้วยว่าที่ร้อยเอก ธีรพงศ์ ครุธดิลกานันท์ รองอธิบดีกรมโยธาธิการและผังเมือง ผู้รับผิดชอบพื้นที่สีเขียว (Green Zone) ผู้รับผิดชอบเกี่ยวกับการลดฟลูออโรคาร์บอน (Fluorocarbon) ตัวแทนจากสมาคมเครื่องทำความเย็นไทย ผู้ประกอบกิจการอุตสาหกรรมผลิตน้ำแข็ง ผู้ประกอบกิจการอุตสาหกรรมห้องเย็น และสภาวิศวกร รวม 19 ท่าน เดินทางไปศึกษาดูงานเกี่ยวกับระบบทำความเย็น ณ ประเทศญี่ปุ่น

โดยที่การฝึกอบรมในครั้งนี้ได้รับสนับสนุนจาก กระทรวงเศรษฐกิจ การค้าและอุตสาหกรรม ประเทศญี่ปุ่น สมาคมทุนฝึกอบรมเทคนิคโพ้นทะเล บริษัท มาเยคาว่า แมนูแฟคเจอริ่ง จำกัด ทั้งประเทศญี่ปุ่นและประเทศไทย และ The High Pressure Gas Safety Institute of Japan (KHK)

ในการอบรม “หัวข้อมาตรการการควบคุมการปล่อยสารฟลูออโรคาร์บอน (Fluorocarbon) ในประเทศญี่ปุ่น” โดย Ms.Osawa Yurie. ผู้ช่วยผู้อำนวยการกลุ่มมาตรการรับมือสารฟลูออโรคาร์บอน แผนกมาตรการรับมือภาวะโลกร้อน กองสิ่งแวดล้อมโลก กระทรวงสิ่งแวดล้อม ได้ให้ข้อมูลว่า สาร CFC, HCFC เป็นสารฟลูออโรคาร์บอน ที่รัฐบาลประเทศญี่ปุ่นห้ามผลิตตั้งแต่ปี 2020 และสาร HFC เป็นสารฟลูออโรคาร์บอนทดแทน ต้องลดการผลิตลง 85 เปอร์เซ็นต์ ภายในปี 2036 อย่างเป็นขั้นเป็นตอน โดยสารแอมโมเนีย (NH3) และคาร์บอนไดออกไซด์ (CO2) เป็นสารทำความเย็นธรรมชาติที่รัฐบาลประเทศญี่ปุ่นส่งเสริมให้ผู้ประกอบการเร่งการใช้อุปกรณ์ที่ใช้สารทำความเย็นธรรมชาติแบบประหยัดพลังงานเพื่อสร้างสังคมคาร์บอนต่ำและไร้สารฟลูออโรคาร์บอนโดยเร็ว

ต่อมาได้เข้าเยี่ยมชมโรงงานทำความเย็นและทำน้ำแข็ง ประกอบด้วย YOKOREI CO.,LTD./ NAGASAKI SORTING SPOT, YOKOREI CO,LTD/ HIRADO ICE FACTORY, JAPAN PURSE SEINER, SASSOCIATION, Iipingshang Foods Corporation. และบริษัท มาเยคาว่า แมนูแฟคเจอริ่ง จำกัด ณ เมืองโมะริยะ (MORIYA) ประเทศญี่ปุ่น ซึ่งเป็นโรงงานที่มีความทันสมัย มีมาตรฐานในการผลิตสูง เพื่อศึกษาระบบทำความเย็นและทำน้ำแข็งที่ใช้สารทำความเย็นธรรมชาติ (NH3/CO2) เป็นสารทำความเย็น ซึ่งใช้แอมโมเนียเพียงร้อยละ 6.25 ของเครื่องทำความเย็นระบบเดิม ที่ใช้สารแอมโมเนีย 100 เปอร์เซ็นต์ ระบบใหม่นี้มีความปลอดภัยสูง ใช้พื้นที่ในการติดตั้งเครื่องจักรน้อยกว่าระบบเดิมมาก ซึ่งสามารถนำไปเป็นข้อมูลพิจารณาการปรับแก้กฎหมายผังเมืองเพื่อที่ให้โรงงานห้องเย็นที่ใช้แอมโมเนียเป็นสารทำความเย็นในปริมาณน้อยและมีมาตรการความปลอดภัยที่มีประสิทธิภาพสูงสามารถตั้งอยู่ในที่ดินประเภทชุมชนหรือที่ดินประเภทชนบทและเกษตรกรรมตามกฎหมายผังเมืองได้

ดร.จุลพงษ์ กล่าวปิดท้ายว่า การศึกษาดูงานในครั้งนี้ทำให้เกิดการแลกเปลี่ยนเรียนรู้เกี่ยวกับระบบทำความเย็น และการส่งเสริมเทคโนโลยีความปลอดภัยเกี่ยวกับระบบทำความเย็นระหว่างประเทศญี่ปุ่นกับประเทศไทย ซึ่งจะส่งผลต่อการลดการเกิดอุบัติเหตุ การประหยัดพลังงาน การลดการใช้สารฟลูออโรคาร์บอน (Fluorocarbon) และเป็นการเพิ่มกำลังการผลิตให้แก่โรงงานห้องเย็นและทำน้ำแข็งที่มีการใช้ระบบทำความเย็นที่ใช้สารแอมโมเนียมเป็นสารทำความเย็นของประเทศไทยต่อไป


#กรมโรงงานอุตสาหกรรม #กรมโรงงาน #กรอ #diw #กระทรวงอุตสาหกรรม #โรงน้ำแข็ง #ห้องเย็น #แอมโมเนีย #ผู้ควบคุม #น้ำแข็ง #โรงอาหารแปรรูป #อาหารแช่แข็ง #แช่เยือกแข็ง #ช่างโรงน้ำแข็ง #น้ำแข็งหลอด #น้ำแข็งซอง