You are currently viewing กรมโรงงานฯ จับมือ สภาอุตฯ แลกเปลี่ยนแนวทางจัดการกากอุตสาหกรรม พร้อมแนวทางช่วยเหลือผู้ประกอบการด้านพลังงานไฟฟ้า

กรมโรงงานอุตสาหกรรม (กรอ.) ร่วมกับ สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) ประชุมหารือแนวทางการจัดการกากอุตสาหกรรมให้ถูกต้องตามกฎหมาย โดยยก “ราชบุรีโมเดล” เป็นตัวอย่างและหารือแนวทางจัดการกับผู้รับบำบัดกำจัดที่ไม่ปฏิบัติตามกฎหมาย พร้อมเผยแนวทางช่วยเหลือผู้ประกอบการด้านพลังงานไฟฟ้าที่มีราคาสูงขึ้น ด้วยการอนุญาตผลิตพลังงานไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์ ที่ได้รับข้อยกเว้นไม่ต้องยื่นขอรับใบอนุญาตประกอบกิจการโรงงาน (ร.ง.4) หรือไม่ต้องยื่นขอขยายโรงงาน ทั้งนี้ เพื่อสนับสนุนการประกอบกิจการ ตลอดจนเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของภาคอุตสาหกรรม

วันที่ 24 พฤศจิกายน 2565 เวลา 15.00 น. ณ ห้องประชุม PASSION (802) ชั้น 8 อาคารปฏิบัติการเทคโนโลยีเชิงสร้างสรรค์ ส.อ.ท. นายจุลพงษ์ ทวีศรี อธิบดีกรมโรงงานอุตสาหกรรม พร้อมด้วย นายพรยศ กลั่นกรอง รองอธิบดีกรมโรงงานอุตสาหกรรม และผู้บริหารกรมโรงงานอุตสาหกรรม ประชุมหารือแนวทางการจัดการกากอุตสาหกรรมให้ถูกต้องตามกฎหมาย ร่วมกับ กลุ่มอุตสาหกรรมการจัดการเพื่อสิ่งแวดล้อม ส.อ.ท. นำโดย นายธีระพล ติรวศิน ประธานกลุ่มฯ เพื่อวิเคราะห์ปัญหาและแนวทางแก้ไขการลักลอบทิ้งกากอุตสาหกรรม โดย กรอ. ได้แลกเปลี่ยนข้อมูลกรณีตัวอย่างปัญหาและมลพิษจากการดำเนินการของผู้รับบำบัดกำจัด (Waste Processor) ที่ไม่ปฏิบัติตามกฎหมาย ก่อให้เกิดผลกระทบจนอาจเรียกได้ว่าเป็น “อาชญากรด้านสิ่งแวดล้อม” รวมถึงแนวทางการบังคับใช้กฎหมายและการดำเนินคดีกับผู้รับบำบัดกำจัดกากอุตสาหกรรม และยก “ราชบุรีโมเดล” เป็นต้นแบบการบริหารจัดการปัญหา โดย กรอ. ใช้กฎหมายทั้งหมดที่มีอยู่มาเป็นเครื่องมือ ตลอดจนการเรียกร้องค่าเสียหายในการฟื้นฟูสิ่งแวดล้อม เพื่อให้ผู้ประกอบการตระหนักถึงความรับผิดชอบจากการประกอบกิจการ ซึ่งหากไม่ดำเนินการตามกฎหมาย จะถูกบังคับใช้กฎหมายอย่างเคร่งครัด

นายจุลพงษ์ ทวีศรี อธิบดีกรมโรงงานอุตสาหกรรม
นายพรยศ กลั่นกรอง รองอธิบดีกรมโรงงานอุตสาหกรรม

ต่อมาในเวลา 17.00 น. กรอ. ได้ประชุมหารือแนวทางการพิจารณาอนุญาตการผลิตพลังงานไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์ ร่วมกับ กลุ่มอุตสาหกรรมพลังงานหมุนเวียน ส.อ.ท. นำโดย นายพรอรัญ สุวรรณพลาย รองประธานกลุ่มฯ โดย กรอ. ได้มอบแนวทางการอนุญาตการผลิตพลังงานไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์ชนิดติดตั้งบนหลังคา (Solar Rooftop) เพื่อสนับสนุนการประกอบกิจการ เป็นการลดภาระค่าใช้จ่ายด้านพลังงานไฟฟ้า ตลอดจนเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของภาคอุตสาหกรรม ซึ่งสามารถจำแนกเป็น 2 ประเภท ได้แก่

  1. การผลิตพลังงานไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์ชนิดติดตั้งบนหลังคาเพื่อใช้ในสถานประกอบการอื่นที่มิใช่โรงงานตามกฎหมายว่าด้วยโรงงาน โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อใช้ในกิจการของตนเอง ไม่ต้องยื่นขอรับใบอนุญาตประกอบกิจการโรงงาน (ร.ง.4)
  2. การผลิตพลังงานไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์ชนิดติดตั้งบนหลังคาเพื่อใช้ในสถานประกอบการที่มิเป็นโรงงานลำดับอื่นๆ ซึ่งระบบผลิตพลังงานไฟฟ้าตั้งอยู่ในพื้นที่บริเวณโรงงานเดิม ได้รับการยกเว้นไม่ต้องขออนุญาตขยายโรงงาน

การอนุญาตผลิตพลังงานไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์ จะสอดคล้องกับนโยบายไฟฟ้าจากพลังงานสะอาด รวมทั้งการส่งเสริมการผลิตโดยใช้พลังงานทดแทนและการอนุรักษ์พลังงานในภาคอุตสาหกรรม เป็นไปตามโมเดลเศรษฐกิจ BCG ที่มุ่งเน้นให้ใช้ทรัพยากรอย่างคุ้มค่าและไม่ก่อให้เกิดมลพิษสิ่งแวดล้อม

#กรมโรงงานอุตสาหกรรม #กรอ #DIW #กระทรวงอุตสาหกรรม #สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย #กลุ่มอุตสาหกรรมการจัดการเพื่อสิ่งแวดล้อม #กลุ่มอุตสาหกรรมพลังงานหมุนเวียน #กากอุตสาหกรรม #พลังงานไฟฟ้า #พลังงานแสงอาทิตย์ #SolarRooftop #WasteProcessor