You are currently viewing นายสหวัฒน์ โสภา รองอธิบดีกรมโรงงานอุตสาหกรรม ลงพื้นที่ตรวจสอบโรงงานบริษัท ไมด้า วัน จำกัด

วันศุกร์ที่ 11 มีนาคม 2565 เวลา 10.30 น. นายวันชัย พนมชัย อธิบดีกรมโรงงานอุตสาหกรรม มอบหมายให้ นายสหวัฒน์ โสภา รองอธิบดีกรมโรงงานอุตสาหกรรม ลงพื้นที่ตรวจสอบการขนย้ายกากอุตสาหกรรมจากบริษัท ไมด้า วัน จำกัด โดยมีนายพฤกษ์ ศิโรรัตนเศรษฐ์ ผู้อำนวยการกองบริหารจัดการกากอุตสาหกรรม พร้อมด้วยนายวันชัย เกาะสูงเนิน อุตสาหกรรมจังหวัดฉะเชิงเทรา และเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องลงพื้นที่ ณ บริษัท ไมด้า วัน จำกัด อำเภอบางปะกง จังหวัดฉะเชิงเทรา

ทั้งนี้ โรงงานบริษัท ไมด้า วัน จำกัด เป็นโรงงานผลิตสารเคมี และรีไซเคิลกากอุตสาหกรรม ที่ตั้งอยู่ในพื้นที่อำเภอบางปะกง จังหวัดฉะเชิงเทรา มีการปล่อยน้ำเสียลงสู่คลองสาธารณะ และมีกากของเสียอันตรายสะสมอยู่ในบริเวณโรงงานเป็นจำนวนมาก กระทรวงอุตสาหกรรมจึงได้มีคำสั่งปิดโรงงานและเพิกถอนใบอนุญาตประกอบกิจการโรงงานตั้งแต่เดือนกรกฎาคม 2559 เป็นต้นมา และได้มีการตรวจสอบภายในพื้นที่โรงงาน พบว่ามีของเสียอุตสาหกรรมตกค้างอยู่ประมาณ 3 – 4 หมื่นตัน แต่บริษัทฯ ไม่สามารถดำเนินการขนย้ายของเสียอุตสาหกรรมดังกล่าวออกไปได้ และได้ตรวจสอบเพิ่มเติมพบว่าพื้นที่การประกอบการเป็นที่ดินในกรรมสิทธิ์ของ บริษัท ธนาคารกรุงไทย จำกัด (มหาชน) และบริษัท บริหารสินทรัพย์ กรุงเทพพาณิชย์ จำกัด (มหาชน) ซึ่งทั้งสองบริษัทจะรับหน้าที่ในการบำบัดหรือกำจัดกากอุตสาหกรรมที่ตกค้างในโรงงานแทนบริษัท ไมด้า วัน จำกัด เนื่องจากเป็นผู้มีกรรมสิทธิ์ครอบครองพื้นที่ดังกล่าว

ต่อมาจังหวัดฉะเชิงเทราจึงได้แต่งตั้งคณะทำงานแก้ไขปัญหาดังกล่าวขึ้น และบริษัท ธนาคารกรุงไทย จำกัด (มหาชน) และบริษัท บริหารสินทรัพย์ กรุงเทพพาณิชย์ จำกัด (มหาชน) ได้กำหนดแผนการดำเนินการแก้ไขปัญหาและมาตรการป้องกันสารเคมีรั่วไหลทั้งในระยะสั้นและระยะยาวขึ้นเพื่อไม่ให้ส่งผลกระทบต่อชุมชนและสิ่งแวดล้อม และได้มีการขอความเห็นชอบต่อกรมโรงงานฯ นำกากอุตสาหกรรมเหล่านี้ออกไปกำจัดหรือบำบัดอย่างถูกต้องตามหลักวิชาการ

โดยเริ่มดำเนินการขนย้ายกากอุตสาหกรรมตั้งแต่เดือนมกราคม 2565 และจะดำเนินการขนย้ายกากอุตสาหกรรมเหล่านี้ได้เป็นไปตามแผนที่วางไว้ โดยคาดว่าในระยะที่ 2 จะดำเนินการให้แล้วเสร็จภายในเดือน พฤษภาคม 2565 เนื่องจากการดำเนินการดังกล่าวต้องใช้ความระมัดระวังเป็นอย่างมาก หากมีการดำเนินการอย่างเร่งรีบอาจก่อให้เกิดปัญหาการรั่วไหล ฝุ่นละออง กลิ่นเหม็น เสียงดัง และแรงสั่นสะเทือนส่งผลกระทบต่อประชาชนได้ โดยพนักงานเจ้าหน้าที่ได้เข้าไปติดตามการดำเนินการขนย้ายกากอุตสาหกรรมอย่างใกล้ชิดเพื่อไม่ให้เกิดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมและชุมชน

นอกจากนี้ กรมโรงงานฯ ยังมีการใช้ระบบการจัดการกากอุตสาหกรรมแบบครบวงจร (E-fully Manifest) ซึ่งเป็นระบบการรายงานผลแบบทันทีและตลอดเวลา (Real Time) เพื่อติดตามการขนส่งกากของเสียอันตรายดังกล่าวให้ไปถึงผู้บำบัดหรือกำจัดได้อย่างถูกต้อง และสามารถติดตามตรวจสอบการลักลอบทิ้งกากดังกล่าวได้อย่างทันท่วงที